วันพุธที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2554

สรุป โทรทัศน์ครู เรื่องฝึกคิดสร้างสรรค์ ด้วยกิจกรรมศิลปะ (อ.เรณู ทองทา)
กระบวนการพัฒนาสมองของเด็กจะทำได้ดีที่สุดในช่วงก่อน 6 ขวบ ดังนั้นกิจกรรมควรเน้นกิจกรรมที่จะกระตุ้นพัฒนาการให้มากที่สุด อ.เรณู ทองทา ได้ริเริ่มกิจกรรมฝึกความคิดสร้างสรรค์สำหรับเด็กชั้นอนุบาล 1 ขึ้นมา โดยใช้วิธีการประดิษฐ์ในวิชาศิลปะมาเป็นสื่อให้เด็กคิดสร้างสรรค์ โดยนำวัสดุใกล้ตัวหลากหลายอย่างมาให้เด็กได้ฝึกคิดประดิษฐ์ตามหัวข้อที่ให้ ไม่มีต้นแบบให้ทำตาม เด็กทุกคนมีอิสระในการคิดการทำ เด็กได้ฝึกทักษะประสาทสัมผัสทั้งกล้ามเนื้อมือและตา รวมถึงทักษะทางสังคมอีกด้วย เด็กทุกคนล้วนผ่านขั้นตอนในการใช้สัญลักษณ์ในการสื่อสารโดยเริ่มสื่อสารจากสิ่งที่เขาพบเห็นเช่น คน ต้นไม้ บ้าน เด็กจะสามารถวาดฉากประกอบได้ตอนอายุ 5 - 7 ปี บางครั้งการวาดภาพของเด็กยังไม่ต้องการผลลัพธ์ แต่เป็นความต้องการเพื่อฝึกทำซ้ำๆ เมื่อเขามีทักษะมากพอจะเกิดความมั่นใจในความสามารถของตน ควรจัดกิจกรรมเพื่อให้เด็กได้มีโอกาสฝึกหลากหลายรูปแบบ เด็กควรมีความรู้พื้นฐานในการใช้และดูแลอุปกรณ์ก่อน กิจกรรมศิลปะสำหรับเด็กควรเริ่มจากกระดาษ สีเทียน กาว กรรไกร ใช้พู่กันระบายสี ปั้น ตามลำดับเด็กจะเลือกใช้อุปกรณ์ศิลปะตามแนวทางของตน ดังนั้นควรเปิดโอกาสให้เด็กใช้จินตนาการของตนอย่างเต็มที่ กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์เป็นกิจกรรมที่สามารถพัฒนากล้ามเนื้อเล็กได้เป็นอย่างดี และยังเชื่อมโยงพัฒนาการของอวัยวะหลายส่วน ทำให้เกิดจุดเชื่อมต่อของใยประสาทที่สามารถพัฒนาไปสู่แบบแผนการเรียนรู้ของสมอง ในการจัดกิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์ ครูควรเปิดโอกาสให้เด็กมีประสบการณ์ตรงและฝึกปฏิบัติอย่างหลากหลาย เมื่อเด็กมีทักษะมากพอจะเกิดความมั่นใจในความสามารถของตน เด็กจะใช้จินตนาการของตนอย่างเต็มที่ ศิลปะสร้างสรรค์สามารถเชื่อมโยงการทำงานของสมองหลายด้าน และอวัยวะบางส่วนและพัฒนาจินตนาการโดยเชื่อมโยงประสบการณ์ออกมาเป็นภาพ/รูปทรง เด็กจะได้ฝึกปฏิบัติจริง มีประสบการณ์ตรง เรียนรู้ผ่านการสังเกตและฝึกกิจกรรมอย่างหลากหลาย เพื่อพัฒนาจุดเชื่อมต่อของใยประสาท ภายใต้สภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย มีอิสระทางความคิด ผลงานศิลปะสร้างสรรค์เกิดขึ้นจากการคิดและการตัดสินใจของเด็กปฐมวัย กิจกรรมศิลปะสร้างสรรค์มีหลากหลายลักษณะได้แก่ การวาดภาพ การสร้างผลงานจากสี การปั้น การพิมพ์ การประดิษฐ์ได้แก่ ฉีก ปะ ตัด พับ สร้างสิ่งประดิษฐ์ ต่อเติม และการประดับตกแต่งได้แก่ จัดดอกไม้ จัดห้อง จัดสวน จัดโต๊ะ ฯลฯ ผลงานศิลปะมีทั้งที่เป็นงาน 2 มิติและ 3 มิติ งานศิลปะสร้างสรรค์จะเกิดขึ้นได้เพราะความเหมาะสมของงานกับระดับพัฒนาการและคุณภาพของวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ เช่น พู่กันต้องสะอาด กรรไกรต้องหยอดน้ำมัน กาวต้องเหนียว ใช้สะดวก เมื่อเลิกกิจกรรมต้องให้ทุกคนช่วยกันเก็บล้างและเช็ดอุปกรณ์ ดูแลจัดเก็บให้อยู่ในสภาพเดิม แล้วล้างมือให้สะอาด ครูไม่ควรเว้นกิจกรรมบางอย่างไปเพราะอ้างว่าเลอะเถอะ เพราะทุกกิจกรรมล้วนมีจุดมุ่งหมายแตกต่างกันดังนั้น ก่อนให้เด็กทำกิจกรรมศิลปะควรให้ใส่ผ้ากันเปื้อนที่เป็นพลาสติกให้เรียบร้อย และดูแลไม่ให้เด็กถอดจนกว่าจะเก็บล้างอุปกรณ์จนเสร็จเรียบร้อย ผลงานของเด็กแต่ละชิ้นไม่ควรประเมินความสามารถโดยการให้ดาวเพื่อเทียบค่าเป็นระดับ เพราะบางครั้งเด็กอาจทำงานเพื่อต้องการฝึกการใช้อุปกรณ์ให้เกิดความชำนาญเท่านั้นแต่ยังไม่ได้สื่อสารศักยภาพทางการคิด ควรบันทึกชื่อ และลงวันที่ที่เขาได้สร้างผลงาน ครูควรนำผลงานของเด็กมาศึกษาและติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งบางครั้งเด็กอาจสื่อปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวเขาลงไปที่ผลงาน และการวิจารณ์ผลงานเด็กมีผลกระทบต่อจิตใจเกินกว่าจะคาดคิด เพราะคำพูดของครูที่ไม่เหมาะสมจะทำให้เกิดการยับยั้งความสามารถของเด็กและอาจทำให้เกิดการสร้างงานซ้ำซาก(เพราะคิดว่าครูชอบ) การให้เด็กอธิบายผลงานเมื่อเขายังไม่พร้อมเขาอาจบอกชื่อไปเพื่อให้ครูพอใจแต่อาจไม่สอดคล้องกับงานที่ทำ ควรจัดสถานที่ให้เด็กโชว์ผลงาน ผลงานทุกชิ้นควรให้เด็กเขียนชื่อไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น